โครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด



การจัดตั้งศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE

กรอบแนวคิด

ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE เป็นกิจกรรมหนึ่งของชมรม TO BE NUMBER ONE ที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง เน้นการช่วยเหลือดูแลสมาชิกและพัฒนาสมาชิกให้มีคุณภาพและมีความสุข การดำเนินงานภายใต้แนวคิด “ปรับทุกข์ สร้างสุข แก้ปัญหา พัฒนา EQ” ทั้งจากการเรียนรู้ด้วยตนเอง และการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม อาศัยกระบวนการกลุ่มให้เกิดความสนุก พร้อมกับการพัฒนาทักษะต่างๆ อาทิ การควบคุมอารมณ์ และความต้องการของตนเอง รู้จักเห็นใจผู้อื่น มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม (ดี)มีความสามารถ ในการรู้จักตนเอง มีแรงจูงใจ สามารถตัดสินใจแก้ปัญหา แสดงออกได้อย่างเหมาะสม และมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้อื่น (เก่ง) มีความภาคภูมิใจในตนเอง พอใจในชีวิต มีความสงบสุขทางใจ และสามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุข (สุข) รวมทั้งจัดบริการเพื่อให้โอกาสสำหรับการแสดงออกถึงพลังสร้างสรรค์ที่มีอยู่ ของวัยรุ่นในสถานศึกษา เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิต และป้องกันแก้ไขปัญหาพฤติกรรมวัยรุ่นเชิงรุกในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาวัยรุ่นได้ง่าย


วัตถุประสงค์

เพื่อให้วัยรุ่นและเยาวชน

1. ที่มีปัญหา หรือต้องการความช่วยเหลือ ได้รับคำปรึกษา แนะนำ ที่ถูกต้องเหมาะสม จากผู้เชี่ยวชาญ หรือเพื่อนอาสาสมัครที่ผ่านการอบรม
2. ได้รับประสบการณ์ และเพิ่มพูนทักษะจากการฝึกแก้ปัญหาพัฒนา EQ ทั้งด้วยตนเอง และจากกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน
3. ได้มีโอกาสใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยเข้าร่วมกิจกรรมที่สร้างสรรค์และเสริมสร้างความสุขให้กับตนเอง ด้วยการฝึกทักษะด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ ฯลฯ จากอาสาสมัคร ผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้าน
4. ได้มีสถานที่ที่เหมาะสมและเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายในการทำกิจกรรมที่สนใจร่วมกัน รวมทั้งกิจกรรมที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและระหว่างสมาชิกในชุมชน
5. ที่มีความสามารถเข้ารับการอบรมเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาเพื่อนช่วยเพื่อน


กลุ่มเป้าหมาย

วัยรุ่นและเยาวชน อายุ 10 – 22 ปี โดยจำแนกเป็นอาสาสมัคร/แกนนำ และสมาชิกศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ที่มาใช้บริการในศูนย์ และครอบครัว


หลักการ

การดำเนินงานในศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ยึดหลัก “คิดและดำเนินงานโดยเยาวชน เพื่อเยาวชน” ดังนั้นการบริหารจัดการภายในศูนย์ฯ จึงเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของแกนนำ อาสาสมัครประจำศูนย์ ซึ่งมีจำนวนประมาณแห่งละ 30 คน เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติหน้าที่ภายในศูนย์วันละ 3 - 5 คน โดยการปฏิบัติหน้าที่จะต้องไม่มีผลกระทบต่อการเรียน


การดำเนินงาน มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ


1. ผู้ให้บริการ

คือ อาสาสมัครประจำศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ที่ผ่านการอบรมตามหลักสูตรการดำเนินงานในศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ของกรมสุขภาพจิต ให้มีความรู้ ความสามารถด้านการให้คำปรึกษา การจัดกิจกรรมกลุ่มเพื่อให้เยาวชนได้ฝึกคิดแก้ปัญหา พัฒนาEQ และการบริหารจัดการด้านอื่นๆ ภายในศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE จะเป็นผู้รับผิดชอบบริหารจัดการและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ภายใต้การควบคุมดูแลของที่ปรึกษา ซึ่งอาจประกอบด้วย อาจารย์ ที่ปรึกษาศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE เจ้าหน้าที่เขตพื้นที่การศึกษา บุคลากรสาธารณสุข และ/ หรือบุคลากรองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในแต่ละจังหวัด โดยแบ่งหน้าที่ของผู้ให้บริการเป็นผู้จัดการศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE และแกนนำอาสาสมัครประจำศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ดังนี้

1.1 ผู้จัดการศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE คัดเลือกมา 1 คน มีหน้าที่ ความรับผิดชอบ

- หน้าที่ด้านบริหาร ได้แก่ เป็นผู้นำในการจัดทำแผนการดำเนินงานภายในศูนย์ ทั้งแผนงาน แผนกิจกรรมและแผนเงิน , มอบหมายงานแก่บุคลากรในทีม , จัด ตกแต่ง ปรับปรุงสถานที่ จัดบริการภายในศูนย์ให้เป็นไปตามความต้องการ และจัดทำทะเบียน ตรวจสอบ วัสดุ ครุภัณฑ์ ภายในศูนย์
- หน้าที่ด้านบริการ ร่วมให้บริการในกิจกรรมต่างๆ ตามที่กำหนดในแผนปฏิบัติงาน และบันทึกข้อมูลในการดำเนินงานทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพ ตามแบบฟอร์มที่กำหนด

1.2 แกนนำอาสาสมัครประจำศูนย์ฯ ควรมีจำนวนไม่น้อยกว่า 30 คน เพื่อผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาให้บริการสมาชิกในศูนย์ฯ ได้วันละ 3 - 4 คน โดยไม่เสียการเรียน หรือ การทำงานทุกวัน มีหน้าที่ความรับผิดชอบ

- ร่วมจัดทำแผนงาน แผนกิจกรรม และแผนเงิน
- ปฏิบัติงานตามกิจกรรมในตารางปฏิบัติงาน
- สรุป /บันทึกข้อมูลการปฏิบัติงาน / จัดทำรายงานตามแบบฟอร์มที่กำหนด
- งานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย

1.3 บทบาทของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE (ทั้งผู้จัดการและแกนนำ อาสาสมัครประจำศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE)

- เป็นที่พึ่งพาทางใจ คอยปรับทุกข์ และให้คำปรึกษา
- คอยให้กำลังใจ ช่วยเหลือเพื่อน
- สนับสนุนให้เพื่อนได้รับการพัฒนา EQ ด้วยกิจกรรมกลุ่ม
- สนับสนุนให้เพื่อนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
- จัดกิจกรรมสร้างสรรค์ต่างๆ ที่เพื่อนสนใจ
- สร้างบรรยากาศภายในศูนย์ฯให้เป็นมิตรและอบอุ่น

1.4 คุณสมบัติของเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE

- มีความสมัครใจ ที่จะทำงานเพื่อส่วนรวม
- มีภาวะความเป็นผู้นำและอดทน
- รักในการทำงานเป็นทีม มีทักษะในการทำงานเป็นทีม
- เป็นที่ยอมรับของเพื่อนๆ ได้รับการยอมรับจากเพื่อนสมาชิก


2. กิจกรรมบริการ

2.1 บริการให้คำปรึกษา (Counselling) มีบริการใน 2 ลักษณะ คือ

2.1.1 บริการปรึกษาเป็นรายบุคคล หรือรายกลุ่ม (Walk in)
2.1.2 บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ (Phone in)

ตัวอย่างบริการให้คำปรึกษา

- บริการปรึกษาเป็นรายบุคคล /รายกลุ่ม
- แลกเปลี่ยนความคิดเห็น / แก้ปัญหาร่วมกัน
- บริการปรึกษาทางโทรศัพท์ (Phone in)
- Hot line สายด่วน
- Web Board / post กระทู้ทาง Internet
- เขียนใส่กล่อง (Q&A Technique) / ตู้รับคำปรึกษา
- เป็นจดหมาย (ปิดบังชื่อ /นามแฝง)/จดหมาย

2.2 บริการฝึกคิดแก้ปัญหาพัฒนา EQ บริการด้วยกิจกรรม 2 ลักษณะ คือ

2.2.1 กิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Study) เช่น เรียนรู้จากโปรแกรมสำเร็จรูปคอมพิวเตอร์ หนังสือ และแบบประเมิน เป็นต้น
2.2.2 กิจกรรมกลุ่ม (Group Activities) เช่น กิจกรรมพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ (EQ), กิจกรรมเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิต, การเล่านิทาน,วาดภาพ,ของเล่น มุมหนังสือ, กิจกรรมสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น

2.3 บริการจัดกิจกรรมเสริมทักษะเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างสุข

ให้แกนนำ อาสาสมัครประจำศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ดำเนินการสำรวจความต้องการ / ความสนใจของสมาชิกในชมรม TO BE NUMBER ONE เพื่อนำมาจัดบริการสร้างสุขขึ้นภายในศูนย์ฯ อาทิ กิจกรรมทางด้าน ดนตรี กีฬา ศิลปะ พัฒนาบุคลิกภาพ เกมส์เชาวน์ปัญญา กิจกรรมพัฒนาด้านภาษา พัฒนาด้านอาชีพฯ กิจกรรมใดที่สมาชิกต้องการเพิ่ม หรือเปลี่ยนแปลง ก็ให้ดำเนินการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม วิทยากรที่ให้ความรู้อาจเป็นสมาชิกชมรม TO BE NUMBER ONE ที่มีความสามารถในแต่ละด้านและเป็นที่ยอมรับ และหรือร่วมด้วยวิทยากรภายนอกที่เป็น IDOL ของสมาชิก เช่น ศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดง นักเขียน นักแต่งเพลง พิธีกร นาง – นายแบบ DJ VJ เป็นต้น


วันเวลาให้บริการ

1. ให้แต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดวัน เช่น ให้บริการทุกวันรวมทั้งเสาร์ – อาทิตย์ หรือ เว้นเสาร์ – อาทิตย์ เป็นต้น
2. ให้แต่ละแห่งเป็นผู้กำหนดเวลา ตามความเหมาะสม จะเป็นช่วงเดียว 2 ช่วงหรือ 3 ช่วงก็ได้ ตัวอย่างเช่น


ช่วงเวลา เวลา
เช้า 07.30 – 08.30 น.
กลางวัน 12.00 – 13.00 น.
เย็น 15.30 – 17.30 น.


ประเภทของศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE

1. ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในห้างสรรพสินค้ากรุงเทพมหานคร 4 แห่ง ดำเนินการโดย กรมสุขภาพจิต ได้แก่

- ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์
- ศูนย์การค้าซีคอนสแควร์
- ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต
- ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ บางแค

2. ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในสถานศึกษาจำเป็นต้องมี เพราะเป็นตัวชี้วัดของชมรม TO BE NUMBER ONE
3. ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการไม่จำเป็นต้องมี หากกิจกรรมของชมรมมีความชัดเจนและมีประโยชน์เพียงพอต่อสมาชิกชมรมอยู่แล้ว
4. ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในชุมชนไม่ต้องมี ไม่เป็นตัวชี้วัดของชุมชน TO BE NUMBER ONE
5. ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในห้างสรรพสินค้าในจังหวัดภูมิภาค หากมีความพร้อมก็สามารถทำได้ แต่ไม่เป็นตัวชี้วัดสำหรับจังหวัด TO BE NUMBER ONE
6. ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในสถานพินิจ ศูนย์ฝึกอบรมและศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในเรือนจำ และทัณฑสถาน และศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในสำนักงานคุมประพฤติจังหวัด หากมีความพร้อมสามารถดำเนินการได้โดยเฉพาะจังหวัดต้นแบบ ถือเป็นตัวชี้วัดของจังหวัด TO BE NUMBER ONE ระดับเพชร


สถานที่และการตกแต่งศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE

- พื้นที่ในอาคารที่มีขนาดไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร
- ควรเป็นห้องสี่เหลี่ยมผืนผ้า โล่ง ระบายอากาศ หรือติดแอร์ พื้นกระเบื้องยาง
- ติดกระจกสูงประมาณ 2 เมตร ด้านยาวของห้อง เพื่อให้สมาชิกได้เห็นภาพตนเองในการพัฒนาทักษะ พัฒนา EQ และพัฒนาบุคลิกภาพอย่างมีประสิทธิภาพ
- อุปกรณ์และการตกแต่งศูนย์เท่าที่จำเป็นดังตัวอย่าง

ข้อสังเกต

1. ควรเลือกสถานที่ที่วัยรุ่นและเยาวชนสามารถมาใช้บริการได้สะดวก ถ้าให้ดีควรอยู่ชั้นล่าง
2. เพื่อเปลี่ยน และสร้างบรรยากาศใหม่ที่ผ่อนคลาย และอิสระ ในสถานศึกษาควรหลีกเลี่ยงการใช้ห้องดนตรี กีฬา และศิลปะของสถานศึกษาที่มีอยู่เดิม เพราะวัตถุประสงค์ของศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE จัดกิจกรรมนี้เพื่อสร้างความสุข และสร้างความสัมพันธ์ โดยสมาชิกเป็นผู้คิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และดำเนินการเอง ดังนั้น ควรจัดบริการทุกอย่างให้อยู่ภายในศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE
3. บรรยากาศของศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE เน้นความเป็นเพื่อน ความเป็นอิสระ ความรู้สึกเป็นเจ้าของสถานที่ และความภาคภูมิใจที่ทุกกิจกรรมถูกจัดขึ้นสำหรับวัยรุ่นอย่างแท้จริง โดยยึดหลัก “เพื่อนดูแลเพื่อน ”

หมายเหตุ

1. การจัดตั้งศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในสถานประกอบการ แผนงาน แผนกิจกรรม และแผนเงินให้เป็นไปตามบริบทของสถานประกอบการ เพราะสมาชิกชมรมที่มาใช้บริการในศูนย์ฯ เป็นพนักงานและมีเกณฑ์เฉลี่ยอายุที่สูงกว่า สำหรับหลักการและวิธีดำเนินงานต้องให้คิดและบริหารจัดการ โดยพนักงาน ซึ่งผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติหน้าที่โดย ไม่กระทบต่อการทำงาน
2. ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ในหน่วยงานสังกัดกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กรมราชทัณฑ์ และกรมคุมประพฤติ สามารถดำเนินการได้ ภายใต้ความพร้อมและเงื่อนไขของสถานที่ แต่ขอให้ยึดกรอบแนวทางการดำเนินงานตามโครงการ TO BE NUMBER ONE
3. ศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ไม่เหมาะกับเด็กชั้นประถมเพราะหลักการดำเนินกิจกรรมของศูนย์ เน้นให้นักเรียน นักศึกษา หรือเยาวชนเป็นผู้บริหารจัดการ (ผู้อำนวยการ และอาจารย์ เป็นที่ปรึกษาและให้การสนับสนุน)




หลักเกณฑ์การอบรมแกนนำอาสาสมัครประจำศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE


1. สถานศึกษา

1.1 แกนนำอาสาสมัครแต่ละแห่งควรมีไม่น้อยกว่า 30 คน เพื่อให้สามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาปฏิบัติหน้าที่ให้บริการ ปรับทุกข์ สร้างสุข แก้ปัญหา พัฒนา EQ ตามตารางที่จัดไว้โดยไม่เกิดผลกระทบต่อการเรียน ทั้งนี้ควรเฉลี่ยจำนวนแกนนำมาจากระดับต่างๆ ดังนี้

ระดับการศึกษา ระดับชั้น จำนวน
ระดับมัธยมศึกษา ม. 6 5 – 10 คน
ม. 5 10 คน
ม. 4 10 คน
ระดับอุดมศึกษา ปี 4 5 – 10 คน
ปี 3 10 คน
ปี 2 10 คน
ปี 1 5 คน

1.2 แต่ละจังหวัดหรือเขตไม่จำเป็นต้องอบรมแกนนำทุกโรงเรียนหรือทั้งจังหวัดทั้งเขต ควรเลือกเฉพาะโรงเรียนที่มีความพร้อม เพื่อเน้นคุณภาพและความสำเร็จและให้เป็นแม่ข่าย

1.3 การอบรมไม่จำเป็นต้องจัดทุกปี เพราะรุ่นพี่ สามารถถ่ายทอดวิธีการทำงานสู่รุ่นน้อง โดยเรียนรู้จากการทำงานร่วมกัน

2 การสนับสนุนจากกรมสุขภาพจิต

2.1 กรมสุขภาพจิตสนับสนุน วิทยากร สื่อและสัญลักษณ์ต่างๆของโครงการ
2.2 กรมสุขภาพจิตจะจัดอบรมวิทยากรหลักสูตรการดำเนินงานศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE และชมรม TO BE NUMBER ONE ให้กับบุคลากรที่รับผิดชอบโครงการ TO BE NUMBER ONE ในจังหวัดและเขตกรุงเทพมหานคร ตามความจำเป็น เพราะควรเป็นหน้าที่ของ จังหวัด / พื้นที่ดำเนินการได้เอง ตามที่โครงการได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไปแล้ว เพื่อให้ทำหน้าที่จัดอบรมแกนนำในจังหวัดต่อไป

3. สถานประกอบการ

3.1 การคัดเลือกแกนนำ อาสาสมัครประจำศูนย์เพื่อนใจ TO BE NUMBER ONE ให้เป็นไปตามความสมัครใจ และสมาชิกยอมรับ
3.2 ผู้บริหาร / เจ้าของกิจการ ซึ่งไม่ใช่พนักงาน ควรเป็นที่ปรึกษาและผู้สนับสนุนตามหลักการของศูนย์ฯ