“การบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิกใครติดยายกมือขึ้นตามแนวทางพระราชดำริโครงการ TO BE NUMBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี”
1. กระทรวงสาธารณสุข
2. กระทรวงศึกษาธิการ
3. กระทรวงยุติธรรม โดย กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
4. กระทรวงมหาดไทย
5. มูลนิธิวิมุตตยาลัย
ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมาโครงการ TO BE NUMBER ONE ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ได้ดำเนินโครงการ “ใครติดยายกมือขึ้น” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดแสดงตนเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟูสมรรถภาพ ฝึกและพัฒนาอาชีพ ตามขั้นตอนและกระบวนการดูแลช่วยเหลือผู้เสพและติดยา ให้สามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ ในสังคมอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่โดยที่การดูแลช่วยเหลือผู้เสพและติดยาในโครงการ “ใครติดยา ยกมือขึ้น” อิงระบบ การบำบัดรักษาและฟื้นฟูของกระทรวงสาธารณสุข ยังไม่มีรูปแบบของการดำเนินงานตามแนวทางของโครงการ โดยเฉพาะโครงการ TO BE NUMBER ONE จึงเห็นควรสนองพระราชดำริขององค์ประธานโครงการฯ ที่ทรงห่วงใยสมาชิกใครติดยายกมือขึ้น โดยจัดทำรูปแบบของการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพ ผู้ติด ภายใต้โครงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิก“ใครติดยายกมือขึ้น” การดำเนินงานด้านการบำบัดรักษายังคงอิงระบบจิตสังคมบำบัดของกระทรวงสาธารณสุข มีกำหนด 4 เดือน แต่ส่วนที่พิเศษ คือ หลังการบำบัดรักษาภายในไม่เกิน 3 วัน สมาชิกต้องเข้าค่ายอบรมเพื่อฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งพระอาจารย์ ว.วชิรเมธี แห่งศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน จังหวัดเชียงราย และมูลนิธิวิมุตตยาลัย ได้ให้ความกรุณาแนะแนวทางการจัดทำหลักสูตรโดยใช้หลักธรรมพระพุทธศาสนาเป็นสาระสำคัญของการอบรม
แนวคิดเรื่องการจัดค่ายอบรมฟื้นฟูจิตใจหลังการบำบัดรักษา อ้างอิงจากผลการศึกษาปัจจัยด้านบุคคลที่มีผลต่อการติดยาเสพติดซ้ำ (Personal Factors Related to be Relapse Drug Users)โดย ดร.อาภาศิริ สุวรรณานนท์ และดร.รัตนา บรรณาธรรมและคณะ (2550) พบว่า ปัจจัยด้านบุคคล เชิงลึกของผู้ติดยาเสพติดที่มีการกลับไปติดยาเสพติดซ้ำ ประการหนึ่งคือ การไม่มีเป้าหมายในชีวิต ทุกข์จากความเครียดในปัญหาต่างๆ และปัจจัยแตกต่างที่พบว่า ผู้ติดยาเสพติดซ้ำมีน้อยกว่าผู้เลิกยาเสพติดได้ คือ การมองเห็นคุณค่าตนเองในความสำเร็จที่ผ่านมา ความภูมิใจและวิธีการแก้ปัญหาในปัจจุบัน นอกจากนี้ การศึกษายังระบุว่าแนวทางในการกำหนดนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดยาเสพติดซ้ำ ด้านการบำบัดฯ คือ ต้องมีกิจกรรมการให้คำปรึกษา กิจกรรมกระตุ้นให้ผู้ป่วยรู้จักคิดวิเคราะห์ไตร่ตรองและรู้จักตนเอง สามารถวางเป้าหมายและเกิดแรงจูงใจทางบวกต่อการดำเนินชีวิต เจ้าหน้าที่ในสถานบำบัดฯ ต้องดูแลอย่างเต็มใจมีการพัฒนารูปแบบและเวลาที่ใช้ในการบำบัดที่เหมาะกับลักษณะผู้ป่วย ซึ่งมีภูมิหลังหรือบุคลิกลักษณะที่ต่างกัน ด้านการป้องกัน ต้องมีการรณรงค์ให้ความรู้ประชาชนและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เน้นการส่งเสริมการศึกษาการปลูกฝังวิธีคิดความเกรงกลัวบาปหรือจริยธรรมให้เด็กเสริมสร้าง ความเข้มแข็งให้ครอบครัว การป้องกันการเสพติดซ้ำในกลุ่มผู้ที่เลิกยาเสพติดได้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับว่าผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เปิดโอกาสให้เข้ามา ร่วมกิจกรรมในชุมชนพร้อมๆ กับการสร้างอาชีพและรายได้โดยชุมชน
โครงการ TO BE NUMBER ONE จะเริ่มทดลองดำเนินงานโครงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิก “ใครติดยายกมือขึ้น” ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย เป็น 2 กลุ่ม ด้านการป้องกัน มุ่งเน้นกลุ่มเสพ ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงในสถานศึกษา ด้านการแก้ไขและป้องกันการเสพซ้ำ เน้นกลุ่มติดยาในสถานพินิจฯ ซึ่งเป็นกลุ่ม Hard Core ทั้งนี้การดำเนินงานยังคงเน้นการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามแนวทางของโครงการ TO BE NUMBER ONE หน่วยงานสำคัญ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงยุติธรรม โดยกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน และเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงาน โครงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิก “ใครติดยายกมือขึ้น” จะมีการติดตามประเมินผลและทำการศึกษาวิจัย เพื่อปรับปรุง พัฒนา และขยายผลการดำเนินงานด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้เสพผู้ติดยาในโครงการ TO BE NUMBER ONE ต่อไป ดังนั้น ช่วงระยะเวลาการดำเนินงานโครงการ อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อความเหมาะสมในแต่ละปี
1. เพื่อจัดให้มีบริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิก “ใครติดยายกมือขึ้น” ตามแนวทางโครงการ TO BE NUMBER ONE
2. เพื่อกระตุ้นให้เยาวชนสมาชิกนำหลักธรรมทางพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน
3. เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เยาวชนสมาชิกในการดำเนินชีวิต โดยให้มีความรู้ใน 3 วิชาหลัก คือ วิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิต
4. เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเยาวชนสมาชิกให้มีความสมบูรณ์พร้อมตามหลักการพัฒนาของพระพุทธศาสนา ได้แก่ กาย สังคม อารมณ์ และจิตวิญญาณ
5. เพื่อป้องกันการกลับไปเสพยาเสพติดซ้ำของสมาชิก “ใครติดยายกมือขึ้น” ที่ผ่านการบำบัดแล้ว
แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
กลุ่มที่ 1 : เยาวชนในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ถูกตรวจพบว่าใช้สารเสพติด จาก 50 จังหวัด จังหวัดละ 2 คน (แต่ละปีเลือกจังหวัดที่มีความพร้อม)
กลุ่มที่ 2 : เยาวชนสถานพินิจฯ ที่ถูกดำเนินคดียาเสพติดในสถานแรกรับ ซึ่งได้รับการตัดสินจากศาลให้เข้ารับการบำบัดรักษา จาก 50 จังหวัด จังหวัดละ 2 คน (แต่ละปีเลือกจังหวัดที่มีความพร้อม)
รวมกลุ่มเข้าร่วมโครงการฯ : จากสถานศึกษา 100 คน จากสถานพินิจฯ 100 คน
บูรณาการความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการ 4 ขั้นตอน คือ
1. ค้นหาและคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย
2. การบำบัดรักษา
3. การฟื้นฟูจิตใจ
4. การติดตาม การรายงาน และการประเมินผล
ขั้นตอนที่ 1 ค้นหาและคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย
กลุ่มที่ 1 เยาวชนในสถานศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่ถูกตรวจพบว่าใช้สารเสพติด
วิธีการ
1. บูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด
2. ผู้ว่าราชการจังหวัด มอบหมายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายร่วมกับสถานศึกษา ในพื้นที่ 50 จังหวัดที่กำหนด
3. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มอบหมายผู้รับผิดชอบประสาน และดำเนินการค้นหา และคัดกรองกลุ่มเป้าหมายร่วมกับสถานศึกษาในจังหวัดๆ ละ 2 คน
4. ผู้รับผิดชอบจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดทำแบบคัดกรองกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง 2 คน จำนวน 2 ชุด (แบบฟอร์มรายงาน 1)
ชุดที่ 1 เก็บไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อบันทึกผลการบำบัดรักษาและการติดตามต่อเนื่อง 1 ปี
ชุดที่ 2 จัดส่งให้โครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อรวบรวมข้อมูลในภาพรวม
* โครงการ TO BE NUMBER ONE จะประสานงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อการติดตามและประเมินผลต่อไป
กลุ่มที่ 2 เยาวชนสถานพินิจฯ ที่ถูกดำเนินคดียาเสพติดในสถานแรกรับซึ่งได้รับการตัดสินจากศาลให้เข้ารับการบำบัดรักษา (สถานพินิจฯ คัดเลือก)
วิธีการ
1. บูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด
2. ผู้ว่าราชการจังหวัด มอบหมายสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายร่วมกับสถานพินิจฯ ในพื้นที่ 50 จังหวัดที่มีความพร้อม
3. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มอบหมายผู้รับผิดชอบประสาน และดำเนินการค้นหา และคัดกรองร่วมกับสถานพินิจในจังหวัดๆ ละ 2 คน
4. ผู้รับผิดชอบจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด จัดทำแบบคัดกรองกลุ่มเป้าหมายในสถานพินิจ ทั้ง 2 คน จำนวน 2 ชุด (แบบฟอร์มรายงาน 2)
ชุดที่ 1 เก็บไว้ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อบันทึกผลการบำบัดรักษาและการติดตามต่อเนื่อง 1 ปี
ชุดที่ 2 จัดส่งให้โครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อรวบรวมข้อมูลในภาพรวม
* โครงการ TO BE NUMBER ONE จะประสานงานในแต่ละขั้นตอนเพื่อการติดตามและประเมินผลต่อไป
ขั้นตอนที่ 2 การบำบัดรักษา
วิธีการ
เพื่อให้การบำบัดรักษาเป็นระบบเดียวกัน ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นำกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่มๆ ละ 2 คน เข้ารับการบำบัดรักษาด้วยโปรแกรม
จิตสังคมบำบัดของกระทรวงสาธารณสุข อย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 เดือน ตามวัน เวลาที่กำหนด ณ โรงพยาบาลประจำจังหวัด
ขั้นตอนที่ 3 การฟื้นฟูจิตใจ
วิธีการ
1. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด นำกลุ่มเป้าหมายที่ผ่านการบำบัดรักษา แต่ละกลุ่ม เดินทางไปส่งยังสถานที่ฝึกอบรม ตามกำหนดเวลา
2. โครงการ TO BE NUMBER ONE กรมสุขภาพจิต กระทรวงศึกษาธิการ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
จัดเจ้าหน้าที่ร่วมกันดูแลกลุ่มเป้าหมาย ณ ค่าย “ฟื้นฟูจิตใจ” ตามหลักสูตร จนสิ้นสุดการเข้าค่ายและนำคณะเดินทางกลับ
เพื่อมารับพระราชทานเกียรติบัตรจากองค์ประธานโครงการฯ ณ กรุงเทพมหานคร
3. เฉพาะกลุ่มผู้เข้าอบรม รุ่นที่ 1 ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รับกลับจังหวัดและนำกลับมารับพระราชทานเกียรติบัตร ร่วมกับรุ่นที่ 2 ที่กรุงเทพมหานคร
4. กลุ่มผู้เข้าอบรม รุ่นที่ 2 ผู้รับผิดชอบโครงการนำคณะเดินทางกลับมารับ เกียรติบัตรพร้อมรุ่นที่ 1 ที่กรุงเทพมหานคร
5. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รับกลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 รุ่น กลับจังหวัด หลังรับพระราชทานเกียรติบัตรแล้ว
ขั้นตอนที่ 4 การติดตาม การรายงาน และการประเมินผล
1.การติดตาม /การรายงาน
วิธีการ
1. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด มอบผู้รับผิดชอบดำเนินการติดตามผลการบำบัดรักษา และฟื้นฟูจิตใจ กลุ่มเป้าหมายทั้ง 2 กลุ่ม
2. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดรายงานผลการติดตาม ผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดส่งโครงการ TO BE NUMBER ONE เพื่อรวบรวมรายงานผล
การดำเนินงานถวายองค์ประธานโครงการ เพื่อทรงพระราชทานพระวินิจฉัยและพระราชทานแนวทางเพื่อการขยายผลต่อไป
2.การประเมินผล
วิธีการ
1. ดำเนินการประเมินหลักสูตรค่ายอบรมฟื้นฟูจิตใจ เพื่อพัฒนาหลักสูตรตามความเหมาะสม
2. โครงการ TO BE NUMBER ONE จะประเมินผลประสิทธิภาพการดำเนินงานโครงการ การจัดการความรู้ (KM)การสังเกต การวิจัย
ระยะเวลาการดำเนินงาน
1. การค้นหาและคัดกรอง ระยะเวลา 1 เดือน (โครงการฯ จะกำหนดวัน เวลาและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าในแต่ละปี)
2. การรายงานผลการค้นหาและคัดกรอง ภายในระยะเวลาที่โครงการเป็นผู้กำหนดแต่ละปี
1. ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่แตกต่างจากแนวทางโดยทั่วไป อย่างน้อย 2 ประการ คือ ความเชื่อมั่นศรัทธาในองค์ประธานโครงการฯ
และด้วยหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ผ่านการพัฒนารูปแบบ เนื้อหา แนวทาง รวมทั้งวิธีการถ่ายทอดโดยพระอาจารย์
และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจะช่วยเสริมให้ผู้เสพ/ผู้ติด ในโครงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจเยาวชนสมาชิก“ใครติดยายกมือขึ้น”
ในโครงการ TO BE NUMBER ONE สามารถเลิกยาเสพติดและกลับไปดำเนินชีวิตด้วยความสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านกาย สังคม
อารมณ์ และจิตวิญญาณ
2. เยาวชนสมาชิก TO BE NUMBER ONE มีความหวังและมีความเชื่อมั่นในระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูจิตใจฯ ตามแนวทางโครงการ
ซึ่งจะส่งผลต่อการเปิดเผยตนเข้ารับการบำบัด ด้วยความสมัครใจมากขึ้น
3. บริการบำบัดรักษาสามารถเข้าถึงผู้เสพ ผู้ติด เพิ่มขึ้น
4. มีการติดตามประเมินผลและการรายงานผลอย่างเป็นระบบ และเป็นรูปธรรมมากขึ้น
5. โครงการ TO BE NUMBER ONE มีรูปแบบของการบำบัดรักษาเพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลว
6. มีข้อมูลด้านการบำบัดรักษาที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อการพัฒนางานแก้ไขปัญหายาเสพติดของประเทศตามแนวทางของโครงการฯ
สงวนลิขสิทธิ์ © 2017 โครงการ TO BE NUMBER ONE | Credits